Brand Story Banner-4
Title Image-4
จากทรัพย์สินและพื้นที่ส่วนพระองค์
สู่โครงการเพื่อค้นคว้าและพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางต้นแบบของราษฎร
Contet1 Image-1

จากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและศึกษาถึงปัญหาของพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด "โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา" ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในเขตพระราชฐานที่ประทับในปีพุทธศักราช 2504

ในปีแรกมีการทดลองปลูกข้าวในแปลงนาข้าวทดลอง โดยกรมการข้าวเป็นผู้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ และมีการปลูกไม้ยางนาในลักษณะของแปลงสาธิตโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และทรงทำการศึกษาทดลองด้วยพระองค์เอง จึงถือได้ว่า "โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา" เป็นโครงการศึกษาพัฒนาโครงการแรก ๆ ก่อนที่จะมีการขยายผลออกไปจัดตั้งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ ทั่วประเทศ

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คือ "แหล่งเรียนรู้" ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาทดลอง เพื่อมุ่งแสวงหามิติใหม่แห่งภูมิปัญญา ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ภายในเขตพระราชฐานที่ประทับของพระองค์เอง ดังคำอรรถาธิบายของ ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็น "พระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก" ซึ่งสะท้อนให้เห็นพระราชวังที่แวดล้อมด้วยดุลยภาพ การวิจัยและทดลองด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ งานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม มีทั้งโรงสีข้าว โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐานและประยุกต์ เพื่อการผลิตแบบครบวงจร ตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี ที่ทรงพัฒนาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแสดงให้อาณาประชาราษฎร์เห็นประจักษ์ถึงกระบวนการคิด การค้นคว้าบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี ความหวัง และความยั่งยืน

Conten2 Image-2

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานอยู่ 3 ประการ คือ

  1. เป็นโครงการศึกษาทดลองเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่าง ๆ
  2. เป็นโครงการตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานรวมทั้งฝึกปฏิบัติ โดยสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการได้เอง
  3. เป็นโครงการที่ไม่หวังผลตอบแทน (เชิงธุรกิจ) จึงมีโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร เช่นเมื่อเกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงนมผงขึ้น เพื่อแปรรูปน้ำนมดิบให้เก็บไว้ได้นาน โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการก่อสร้าง และยังมีการตั้งศูนย์รวมนม เพื่อรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอีกด้วย

ลักษณะการดำเนินงาน

การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. โครงการไม่ใช่ธุรกิจ คือโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ นาข้าวทดลอง ป่าไม้สาธิต การเพาะพันธุ์ปลานิล กังหันลม ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตน้ำเย็นด้วยพลังงานความร้อนจากแกลบ โรงกระดาษสา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
  2. โครงการกึ่งธุรกิจ คือโครงการที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไรแบบธุรกิจ โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ มีการบริหารจัดการเงินอย่างครบวงจร โดยรายได้จะนำมาใช้พัฒนาภายในโครงการต่อไป ได้แก่กลุ่มงานเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กลุ่มงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และกลุ่มงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกระบวนการผลิตที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไป จึงเปรียบเสมือน "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" ที่ดำเนินการอยู่ในเขตพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย