จากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและศึกษาถึงปัญหาของพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด "โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา" ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในเขตพระราชฐานที่ประทับในปีพุทธศักราช 2504
ในปีแรกมีการทดลองปลูกข้าวในแปลงนาข้าวทดลอง โดยกรมการข้าวเป็นผู้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ และมีการปลูกไม้ยางนาในลักษณะของแปลงสาธิตโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และทรงทำการศึกษาทดลองด้วยพระองค์เอง จึงถือได้ว่า "โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา" เป็นโครงการศึกษาพัฒนาโครงการแรก ๆ ก่อนที่จะมีการขยายผลออกไปจัดตั้งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ ทั่วประเทศ
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คือ "แหล่งเรียนรู้" ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาทดลอง เพื่อมุ่งแสวงหามิติใหม่แห่งภูมิปัญญา ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ภายในเขตพระราชฐานที่ประทับของพระองค์เอง ดังคำอรรถาธิบายของ ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็น "พระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก" ซึ่งสะท้อนให้เห็นพระราชวังที่แวดล้อมด้วยดุลยภาพ การวิจัยและทดลองด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ งานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม มีทั้งโรงสีข้าว โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐานและประยุกต์ เพื่อการผลิตแบบครบวงจร ตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี ที่ทรงพัฒนาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแสดงให้อาณาประชาราษฎร์เห็นประจักษ์ถึงกระบวนการคิด การค้นคว้าบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี ความหวัง และความยั่งยืน
วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานอยู่ 3 ประการ คือ
ลักษณะการดำเนินงาน
การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกระบวนการผลิตที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไป จึงเปรียบเสมือน "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" ที่ดำเนินการอยู่ในเขตพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย